จุดในบ้านที่มักเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับจุดใหญ่ ๆ ที่มองเห็นได้ง่าย แต่ความจริงแล้วจุดเล็ก ๆ ภายในบ้าน ซึ่งมักถูกมองข้าม ก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้เช่นกัน ลองมาดูว่ามีจุดไหนภายในบ้านบ้างที่ควรให้ความใส่ใจในเรื่องความสะอาด ก่อนจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและทำให้คนในบ้านป่วยได้
1. สวิตช์ไฟ
การที่เราสัมผัสกับสวิตช์ไฟหลาย ๆ ครั้งโดยไม่เคยทำความสะอาด ทำให้กลายเป็นจุดที่มีเชื้อโรคสะสมอยู่มากมาย เพียงแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น
จากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า บนสวิตช์ไฟมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงมากถึง 217 ตัวต่อตารางนิ้ว โดยเฉพาะสวิตช์ไฟห้องน้ำนั้นมีเชื้อโรคอาศัยอยู่มากกว่าหลายเท่าตัว ทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่น ๆ จากการสัมผัสได้ด้วย
ดังนั้น จึงควรทำความสะอาดสวิตช์ไฟอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถทำความสะอาดง่าย ๆ โดยฉีดแอลกอฮอล์ลงบนผ้า แล้วนำไปเช็ดสวิตช์ไฟให้ทั่ว ก่อนจะนำผ้าแห้งมาเช็ดซ้ำอีกรอบ เท่านี้ก็ช่วยให้สวิตช์ไฟปราศจากเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกแล้ว
2. ก๊อกน้ำ
ก๊อกน้ำเป็นอีกหนึ่งจุดในบ้านที่มักมีสิ่งสกปรกสะสม และมักเป็นจุดที่หลายคนลืมทำความสะอาด ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
วิธีการทำความสะอาดก็ง่าย ๆ เพียงแค่เช็ดด้วยน้ำร้อนหรือน้ำสบู่แล้วล้างออก หรือถ้าอยากเพิ่มความเงางามให้กับก๊อกน้ำ ก็ให้ขัดด้วยเบกกิ้งโซดาผสมน้ำมะนาว ก็ทำให้ก๊อกน้ำกลับมาสะอาดเงางามได้เหมือนกัน
3. ม่านห้องน้ำ
ม่านในห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือผ้าก็มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย เนื่องจากอากาศในห้องน้ำมักอบอ้าว และมีความชื้นสูง ซึ่งนอกจากจะไม่น่าใช้งานแล้ว เชื้อรายังเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งพิษจากเชื้อรามักจะเป็นอันตรายต่อระบบต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังได้
วิธีการทำความสะอาด
– หากผ้าม่านที่เป็นผ้า สามารถถอดซักรวมกับผ้าอื่นได้เลย จากนั้นให้ตากแดดจัด เพื่อกำจัดเชื้อรา
– หากเป็นม่านพลาสติกให้ใช้เบกกิ้งโซดาถูบริเวณที่เป็นเชื้อราออกก่อน แล้วจึงนำไปปั่นในเครื่องซักผ้าร่วมกับผ้าขนหนูเก่า ๆ สักผืน โดยไม่ต้องใส่ผงซักฟอก แต่ให้ใส่น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยลงไปแทน เมื่อเครื่องซักเสร็จให้รีบนำออกมาตากแดดให้แห้ง โดยที่ไม่ต้องปั่นแห้ง เท่านี้คราบเชื้อราต่าง ๆ ก็จะหายไป
4. ลูกบิดประตู
มือจับหรือลูกบิดประตู คือ จุดอันตรายจากเชื้อโรคอีกจุดหนึ่งที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นจุดที่ถูกสัมผัสอยู่ตลอดเวลา จึงมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากที่สุดแห่งหนึ่งในบ้าน
วิธีการทำความสะอาดคือ เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบ่อย ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยทำให้มือจับหรือลูกบิดประตูปราศจากเชื้อโรคได้
5. ราวจับบันได
เช่นเดียวกับลูกบิดประตู เนื่องจากผู้อยู่อาศัยต้องสัมผัสกับราวจับบันไดทุกวัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยพยุงตัว ดังนั้น การเช็ดราวจับบันไดให้สะอาด นอกจากจะสวยงามน่ามองยังช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วย
ส่วนการทำความสะอาดสามารถทำได้โดยผสมน้ำร้อนและน้ำส้มสายชูเข้าด้วยกัน จากนั้นนำผ้าจุ่มแล้วบิดออกให้ผ้าเปียกหมาด ๆ นำไปเช็ดราวบันได แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกครั้ง
6. ต้นไม้ในบ้าน
ไม่ว่าจะต้นไม้จริงหรือต้นไม้ปลอม ใบไม้ก็เป็นแหล่งสะสมฝุ่นและสิ่งสกปรกได้ โดยเฉพาะต้นไม้ที่อยู่ในห้องนอน เพราะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เรียกกว่า สารก่อภูมิแพ้ (allergens) หรือสิ่งกระตุ้น ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบหายใจ การรับประทานอาหาร การสัมผัสทางผิวหนัง
โดยโรคภูมิแพ้ชนิดที่พบบ่อยมากที่สุดในประเทศไทย คือ โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ (โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ ประมาณ 23-50% และโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ประมาณ 10-15%) และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งภายในระยะเวลา 20 ปี คาดว่า จะมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มมากถึง 3-4 เท่า
สำหรับการทำความสะอาดต้นไม้จริงให้ยกไปฉีดน้ำล้างสิ่งสกปรกออก แต่ถ้าหากต้นไม้มีขนาดใหญ่เกินไป ก็ให้นำผ้าไมโครไฟเบอร์มาเช็ดทำความสะอาดทีละใบแทน ส่วนต้นไม้ปลอมสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ๆ โดยการใช้ไดร์เป่าผมเป่าฝุ่นออก ที่สำคัญอย่าลืมคาดผ้าปิดปากป้องกันฝุ่นละอองด้วย
7. ถังขยะ
แม้จะกำจัดขยะออกจากถังขยะทุกวัน แต่แบคทีเรียและกลิ่นเหม็นก็ยังคงตกค้างและสะสมอยู่ในถังขยะได้ ฉะนั้นทางที่ดีอย่าลืมล้างถังขยะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมกับขัดสิ่งสกปรกออก รับรองว่าเชื้อโรคและกลิ่นในถังขยะหายเกลี้ยงแน่นอน
8. มุ้งลวดและมู่ลี่
มุ้งลวดและมู่ลี่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นชั้นดี เพราะทำความสะอาดยาก จึงมีโอกาสที่ฝุ่นและสิ่งสกปรกจะสะสมได้ง่าย โดยวิธีการทำความสะอาดมุ่งลวดสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยล้างด้วยน้ำสบู่แล้วใช้แปรงขัดออก ก่อนนำไปผึ่งให้แห้ง ในระหว่างนี้ก็ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดรางมุ้งลวดให้สะอาด
ส่วนฝุ่นบนมูลี่ก็กำจัดได้โดยใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ชุบน้ำแล้วเช็ดทีละซี่ จากนั้นใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกรอบ เผื่อไม่ให้เกิดคราบน้ำ
9. เฟอร์นิเจอร์
เฟอร์นิเจอร์บางอย่างมักพบสารเคมีอันตรายประเภทฟอร์มัลดีไฮด์ เนื่องจากสารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสี กาว และสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่น ๆ ไอระเหยของสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่แฝงอยู่สิ่งเหล่าเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย
หากได้รับสารระเหยในจำนวนน้อย อาจเกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น แสบตาหรือแสบจมูก แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่าง ๆ หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้
ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์ที่จะนำเข้าบ้านว่า มีคำเตือนถึงการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์ และได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อสุขภาวะที่ดีในการพักอาศัย
นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์ยังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา และเชื้อโรคได้เช่นกัน แต่สามารถทำความสะอาดง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาด
ข้อแนะนำในการทำความสะอาดของกรมอนามัย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำถึงหลักการทำความสะอาดง่าย ๆ 5 ขั้นตอน ลดการสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ดังนี้
1. เก็บสิ่งของเครื่องใช้ โดยจัดวางของที่จำเป็นให้เป็นระเบียบ ไม่ควรเก็บสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็นไว้ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก
2. กวาดหยากไย่ ฝุ่นละออง และเศษขยะ
3. เช็ดถูคราบสกปรก ทำความสะอาดให้ทั่วถึง
4. ล้างทำความสะอาดส้วมสม่ำเสมอ 5
5. คัดแยกขยะตามประเภท ได้แก่
– ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ควรเก็บใส่ถุงที่ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่รั่วซึม มัดปากถุงให้แน่น นำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ แก๊สชีวภาพ
– ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ ขวดพลาสติก โลหะ ให้เก็บรวบรวมนำไปจำหน่าย
– ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ให้เก็บในภาชนะบรรจุเดิมหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด ปลอดภัย รวบรวมและนำไปไว้ที่จุดทิ้งขยะอันตราย
– ขยะทั่วไป ซึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงที่มีความเหนียวทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่รั่วซึม และมัดปากถุงให้แน่น ทิ้งลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด
***ขณะทำความสะอาดควรสวมถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปากป้องกันทุกครั้ง
ส่วนวิธีกำจัดตัวไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่นภายในห้องนอนและภายในบ้านนั้น ให้หมั่นทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเป็นประจำ และควรซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม และพรมเช็ดเท้า ทุก 1-2 สัปดาห์ จะช่วยลดสารก่อภูมิแพ้
นอกจากนี้ ทุกบ้านควรหมั่นดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรักษาความสะอาดของพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอุบัติเหตุและการสะสมของเชื้อโรค ยุง หนู แมลงสาบ และสัตว์มีพิษ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อต่าง ๆ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ